Image credit: SuperbWallpapers
รวบรวมวิชาในการหาตั๋วเครื่องบินถูกๆมาได้พักใหญ่แล้วล่ะค่ะ และเพิ่งแน่แก่ใจว่า วิทยายุทธ์เริ่มจะเข้มข้นมากพอที่จะรวบรวมมาเขียนบล็อกและแนะนำให้คนอื่นๆได้ร่วมรู้ด้วยก็ตอนที่เมามันหมกมุ่นกับการหาตั๋วเครื่องบินไป Czech Republic ในรอบการเดินทางวันที่ 8-17 เมษายนที่จะถึงนี้นี่แหละค่ะ เกริ่นนำก่อนว่า ตามประสาคนเสพติดการท่องเที่ยวและถ่ายรูป เป้าหมายต่อไปคือการไปต่อไปให้ไกลมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งท่องเที่ยวมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งแน่ใจว่า ตัวเราเล็กแสนเล็กมากเพียงเท่านั้น
และหลังจากที่คร่ำหวอดวงการท่องเที่ยวเอเชียมาพักใหญ่ๆ ในทุกทริปที่ล้วนถูกแวดล้อมด้วยหัวดำหัวหงอกเกือบตลอดเวลาก็ถึงคราที่คิดว่า ต้องสยายปีกออกสู่ดินแดนที่อุดมด้วยหัวทองบ้างแล้ว เลยเริ่มปักหมุดการเดินทางไปยุโรปตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่เพิ่งจะสบโอกาสเหมาะจองตั๋วเครื่องบินในราคาเป็นมิตรกับกองทุนการท่องเที่ยวส่วนตัวก็เมื่อไม่นานมานี้
ห๊ะ.. ไรนะ.. ช่วงนี้เข้าหน้าแล้ง งดปล่อยน้ำท่วมทุ่งงั้นเรอะ เครๆ เข้าเรื่องกันเลยละกัน
Tips and Tricks เพื่อการได้มาซึ่งราคาตั๋วถูก โดยกลยุทธ์ที่เราเรียกเป็นการส่วนตัวว่า Mix and Match
Tips 1 ต้องมีเวลา และหมั่นกลับเข้ามาดูราคาอย่างสม่ำเสมอ
Tips 2 จำไว้ว่า การเปิดเวบไซท์เพื่อหาราคาตั๋วเครื่องบินนั้น ให้เริ่มเปิดจาก Browser ชนิดหน้า “ส่วนตัว” เท่านั้นค่ะ ว่าแต่อะไรคือ Browser หน้าส่วนตัว (Private browsing) มันคือการเปิดหน้า Browser ชนิดที่ระบบจะไม่เก็บค่า Cookies หรือค่าการเข้าเยี่ยมชมอย่างใดๆพูดง่ายๆผู้เล่นที่ใช้งานการตั้งค่าแบบนี้ ไม่อนุญาตให้ Browser เก็บข้อมูลการใช้งานอินเตอร์เน็ทของเรา เพื่อที่จะรวบรวมส่งเป็นข้อมูลไปยังเวบไซท์ที่เกี่ยวข้อง แล้วมันดียังไง?? อ้าวววว ก็ถ้าพวกเวบไซท์ทั้งหลาย เห็นว่าผู้ใช้งานเข้าดูข้อมูลหน้าไหนบ่อยๆ ก็จะรู้ว่า ผู้ใช้งานนั้นๆ กำลังมองหาหรือให้ความสนใจกับคอนเทนท์บนเวบนั้นๆ อย่างแน่นอน ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมได้นี้ ก็จะถูกรวบรวมนำไปประมวลเป็นแผนการตลาดและการขายต่อๆไป ในกรณีของเราแล้ว ถ้าเค้ารู้ว่าเราขยันเข้าไปดูข้อมูลราคาตั๋วเครื่องบิน ทางเวบไซท์ก็จะเกิดพุทธิปัญญาว่า อีนี่อยากไปเที่ยวนี่หว่า งั้นขึ้นราคาแม่มซะเลย ตามหลักการอุปสงค์อุปทานนั่นแล
Tips 3 เปรียบเทียบราคาตั๋วจากเวบไซท์เปรียบเทียบราคาทั้งหลาย ส่วนตัวที่ค่อนข้างฮิตและใช้งานบ่อยๆก็คงหนีไม่พ้น Skyscanner/ Momondo/ Adioso และ Hipmunk ค่ะ
มาเข้าสู่กลวิธีการหาตั๋วแบบประหยัด กลยุทธ์ Mix and Match กันเถิด
- หาราคาไปกลับ (Roundtrip) แบบปกติ เป็นราคาในใจไว้ก่อน จดราคาขึ้นมา
- ลองหาราคาตั๋วแบบ One way แยกขาไปขากลับ
- ถ้าการหาตั๋วแบบแยกสายไม่เวิร์ค เราลองมาเลือกวิธีแบบ Multicity ซิ การเลือกตั๋วแบบ Multicity คืออะไร คือการเลือกชุดเมืองทั้งไปและกลับ หรือเฉพาะขาใดขานึง ไม่เหมือนกับอีกขานึงทั้งหมด งงสิ งง.. ยกตัวอย่างเช่น เราเลือกบินจาก กรุงเทพ – ปราก – กรุงเทพ แล้วมาค้นพบว่า อาจล้มละลายได้จากราคาตั๋ว งั้นมาลองเพิ่มลูกเล่นด้วยการเปลี่ยนเมืองเริ่มต้นเดินทาง หรือเมืองปลายทางขากลับ เช่น จาก กรุงเทพ – ปราก – กรุงเทพ ก็อาจจะเป็น กัวลาลัมเปอร์ – ปราก – กรุงเทพ หรือ กรุงเทพ – ปราก – กัวลาลัมเปอร์ และถ้าเหม็นขี้หน้าหนุ่มมาเลย์มากนัก จะขยับเปลี่ยนจากกัวลาลัมเปอร์ ไปเป็นสิงคโปร์ – ปราก – กรุงเทพ หรือ ฮ่องกง – ปราก – กรุงเทพ ก็ได้ ไม่ว่ากัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมดูระยะเวลาการบินและเผื่องบของการเดินทางจาก กรุงเทพ หรือ กลับ กรุงเทพ
Fact!!! อย่าเพิ่งลิงโลดไปว่าเจ้าได้ตั๋วถูกแล้วจนลืมบวกค่าตั๋วจากกรุงเทพหรือกลับกรุงเทพ สำหรับกรณีที่เราเลือกเมืองต้นทางหรือปลายทางเป็นเมืองพวกกัวลา ลัมเปอร์ด้วยนะคะ #อาตมาเคยเกือบพลาดมาแล้ว - เพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองราคาตั๋วที่ทำให้เราเหลือเงินไปฟุ่มเฟือยในเรื่องไม่เข้าท่าเรื่องอื่นๆได้ เรายังมีวิธีต่อไปให้ลองกันต่อ นั่นคือ การชำแหละตั๋วแบบแยกย่อยละเอียดสุดๆ นั่นคือ ในกรณีที่เป็นการบินแบบ Long haul มักจะมีการแวะ Transit หรือเปลี่ยนเครื่อง ตรงนี้แหละค่ะ ที่เราสามารถใช้เป็นการหาตั๋วเครื่องบินแบบราคาถูกได้อีก นั่นคือ ยกตัวอย่างทริปล่าสุด เราซอยทริปออกเป็นดังนี้
ขาไป กรุงเทพ – ปราก บินโดยสายการบิน Ukrain International Airline ค่าตั๋ว 14,765 หาจนย่อยแล้ว นี่คือถูกสุดค่ะ
ขากลับ มิวนิค – กรุงเทพ (เส้นทางคือ แวะ 2 stops เบอร์ลิน และ สตอคโฮล์ม) สามารถแยกการหาได้ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 มิวนิค – กรุงเทพ ปกติ ราคาตั๋ว 21,244 (บินโดย Air Berlin + Norwegian Air Shuttle)
ทางเลือกที่ 2 (ราคา ณ ขณะที่กำลังบล็อกนี้อยู่เลยค่ะ)
1. มิวนิค – สตอคโฮล์ม (แวะ 1 stop คือ เบอร์ลิน เช่นเดิมแล้วไปลงที่ สตอคโฮล์ม) ราคา 5,754 บาท (บินโดย Air Berlin)
2. สตอคโฮล์ม – กรุงเทพ (บินตรงยาว ไม่แวะ) ราคา 7,528 บาท (บินโดย Norwegian Air Shuttle)
เท่ากับ Route นี้ มีราคาตั๋วเพียง 5,754 + 7,528 บาท = 13,282 ประหยัดลงไปทันที 7,962 บาท!!! - แต่ช้าก่อน… เรามาเพิ่มเคล็ดลับการประหยัดให้มากขึ้นด้วยการจองตั๋วโดยตรงที่เวบของสายการบินนั้นๆ เคยเจอมากับตัวค่ะ ประหยัดลงไปทันทีหลายร้อยเลยทีเดียว
โดยสรุปแล้ว ทริป กรุงเทพ – ปราก – มิวนิค – กรุงเทพ นั้น ดั๊นจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปเบ็ดเสร็จเป็นจำนวนเงินที่ 14,765 + 3,528 + 5454 = 23,747 บาท สำหรับการบินไปยุโรป แวะ 2 เมืองท่าใหญ่ๆ ราคาที่ได้ ก็คงไม่เลวนักหรอกค่ะ
จบแร้… จบมันง่ายๆแค่นี้แหละ ได้เวลาไปเตรียมยื่นวีซ่าเชงเก้นแล้ว ข่าวว่าจะยื่นวันพรุ่งนี้ ในขณะที่กำลังจะบินในอีกประมาณ 17 วันข้างหน้า กระชั้นไปมั้ย… โอ๊ยยย ไม่หรอกค่ะ จะบินอีก 2 วันพาสปอร์ตดั๊นเพิ่งเสร็จก็มี ประสาอะไรกับการยื่นขอวีซ่าแบบกระชั้นชิด ขืนวางแผนนานๆ มีอะไรคาดเดาได้ตลอดเวลาก็น่าเบื่อตายสิคะ ชีวิตมันต้องมีความตื่นเต้นพรรค์นี้บ้างแล… แล้วเจอกันใหม่ในบล็อกหน้าที่รับปากว่า จะขยันมาอัพให้บ่อยกว่านี้นะคะ